กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมพาณิชย์สัญจรเพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนำทูตพาณิชย์จากทั่วโลกลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ได้เป็นหัวหน้าคณะในการลงพื้นที่ ทั้งนี้ได้ประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหาแนวทางการขยายตลาดร่วมกับภาคเกษตรกร และ SME เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรให้ก้าวไปสู่ตลาดโลก เดินหน้าต่อยอดพัฒนานครชัยบุรินทร์ ชี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ เชื่อมั่นช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในวันนี้ได้มีการประชุมระหว่างผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางในการขยายตลาดร่วมกับภาคเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตร และสินค้าท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก้าวจากการเป็นสินค้าภูมิภาคไปสู่ตลาดโลก โดยมีสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และผลไม้
“ในที่ประชุมมีการสรุปแนวทางในการผลักดันสินค้าเกษตรและสินค้าท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ก้าวไปสู่ตลาดโลก ได้แก่ มันสำปะหลัง ไปตลาดญี่ปุ่น และอินเดีย สินค้าข้าวไปตลาดสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง สินค้าแฟชั่นประเภทผ้าผืนไป ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เป็นต้น”
“การลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจากการลงพื้นที่ครั้งก่อนที่ได้ลงไปหารือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ อันประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยได้คัดเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจพื้นฐานของภาคอีสาน กิจกรรมภายในงานมีการให้คำแนะนำการเจาะตลาดเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทูตพาณิชย์ ว่าสินค้าใดบ้างที่มีศักยภาพในการเข้าไปเจาะตลาดในประเทศต่างๆ รวมถึงแนวทางและวิธีการในการเจาะตลาดแต่ละประเทศ เพื่อบุกเข้าสู่ตลาดโลกถือเป็นการหาช่องทางตลาดส่งออกใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย กิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ รวมถึงให้บริการข้อมูลคำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้จะมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับชุมชน จำนวน 4 สินค้า ได้แก่ ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และกาแฟวังน้ำเขียว”
“ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้า และช่องทางการบุกตลาด ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าหลักจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งออก ได้แก่ มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์จากข้าว สินค้าแฟชั่น ผ้าย้อมคราม เครื่องปั่นดินเผา เป็นต้น โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และฮ่องกง ซึ่งจากการลงพื้นที่และการประสานความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการส่งออกสินค้าท้องถิ่นที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ตามมติ ครม.” นายวีรศักดิ์กล่าว
นายวีรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้จะมีการลงพื้นที่เพื่อรับทราบศักยภาพของการผลิต และหาแนวทางการขยายตลาดร่วมกับภาคเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs เช่น โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังครบวงจร และการเยี่ยมชมสินค้า GI ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นต้น ซึ่งในส่วนของมันสำปะหลังกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมทั้งในส่วนของมันเส้น และแป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ปัจจุบันมันสำปะหลังมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในครึ่งปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,688.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้า GI เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ของตกแต่งบ้าน ตกแต่งสวน ของใช้เครื่องประดับแฟชั่น เป็นต้น ซึ่งชุมชนด่านเกวียนคือชุมชนที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนให้เป็นชุมชนอี-คอมเมิร์ซต้นแบบของประเทศ ภายใต้ชื่อ “สมาร์ทวิลเลจออนไลน์” ซึ่งเป็นการประยุกต์จากหมู่บ้านต้นแบบ หมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Village Model) มาใช้กับผู้ประกอบการสินค้าโอทอป และสินค้าชุมชนของไทยที่มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดเป็นชุมชน อี-คอมเมิร์ซต้นแบบของประเทศไทย