ตำนาน “การจัดทำใบเซียมซี” ของทางศาลเจ้าพ่อกวนอู คลองสาน ในช่วงหลายสิบปีก่อน

หวนคิดถึงตำนาน “การจัดทำใบเซียมซี” ของทางศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ในช่วงหลายสิบปีก่อน

ผมต้องกราบขอบพระคุณ “อากู๋สี่” อากู๋จั๊กเซี้ยะ แซ่เฮ้ง (จักเซี้ย แซ่เฮ้ง) ซึ่งท่านมีศักดิ์เป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณแม่ผมครับ และที่สำคัญ ท่านยังมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ และได้รับมอบหมายหน้าที่หลักอีกท่านหนึ่งให้เป็นคนเขียนอักษรลงบนผืนผ้ายันต์ขององค์อากงท่าน “เทพเจ้ากวนอู” ในยุคของอาเหล่าแปะ หรือที่คนในบริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยาจะรู้จักกันในนามว่า “จับเกี๊ยมแปะ” ซึ่งท่านมีองค์ประทับขององค์อากงท่าน “เทพเจ้ากวนอู” และเคยมีการประทับทรงองค์อากงท่าน “เทพเจ้ากวนอู” ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ในช่วงหลายสิบปีก่อน

และในขณะนั้น องค์อากงท่าน “เทพเจ้ากวนอู” ท่านได้มอบหมายให้ “อากู๋สี่” เป็นคนเขียนอักษรลงบนผืนผ้ายันต์ของอากงท่าน “เทพเจ้ากวนอู” เพื่อแจกจ่ายให้กับท่านลูกศิษย์ฯ ในยุคดังกล่าวด้วยครับผม

อากู๋สี่” ท่านเคยช่วยเล่าให้ผมฟังในช่วงที่ผ่านมาว่า (กราบขออนุญาตขอลงประวัติการจัดทำใบเซียมซีอีกครั้งหนึ่ง) การจัดทำใบเซียมซีของทางศาลเจ้าพ่อกวนอูนั้น แรกเริ่มเลยนั้นจะมีแต่เฉพาะภาษาจีนเพียงภาษาเดียวเท่านั้น และจัดทำด้วยไม้สีออกสีชมพูบานเย็นมีขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 6 นิ้ว เป็นบล็อกไม้ เรียงกัน 10 แถว แถวละ 10 เส้น รวมแล้วมีทั้งสิ้น 100 เบอร์ และหลังจากนั้น ใบเซียมซีไม้ดังกล่าวเริ่มเกิดการชำรุด และเสียหายตามกาลเวลา ดังนั้น “อากู๋สี่” เลยช่วยเป็นธุระ และช่วยจัดทำชุดใหม่ทดแทน โดยในครั้งนั้นได้จัดทำเป็นแบบกระดาษที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ และได้จัดเพิ่มภาษาไทยเข้ามาเสริมในใบเซียมซีอีก 1 ภาษาครับผม

หมายเหตุ : มีท่านลูกศิษย์ฯ ที่ผมรู้จักหลายท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า ยังทัน ได้เห็น และยังจำใบเซียมซีที่จัดทำด้วยไม้สีออกสีชมพูบานเย็นนั้นได้เป็นอย่างดีเลยครับผม

ส่งผลให้ใบเซียมซีที่ใช้อยู่ในศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสานในปัจจุบันนี้จึงมีอยู่ด้วยกัน 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย และภาษาจีนครับผม

ทั้งนี้ ในเรื่องความหมายของใบเซียมซีภาษาจีนนั้น “อากู๋สี่” ท่านเป็นคนบริหารจัดการพร้อมกับตรวจเช็คและตรวจสอบอย่างพิถีพิถันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เนื่องจากท่านมีความรู้และเคยเป็นคุณครูสอนภาษาจีนมาก่อน ดังนั้น ในส่วนนี้ท่านจึงให้ความสำคัญ และตรวจสอบความถูกต้องเป็นอย่างดี

และที่สำคัญ ท่านยังได้เดินทางไปกราบขอร่วมทำบุญที่ทางศาลเจ้ากวนอู ชั้น 3 สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย เยาวราช สัมพันธวงศ์ และกราบขออนุญาตนำใบเซียมซีของทางศาลเจ้ากวนอู ชั้น 3 สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย เยาวราช สัมพันธวงศ์ มาเป็นต้นแบบภาษาไทยในการดำเนินการจัดพิมพ์ และใช้ในศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชาวชุมชนตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

และได้ให้ทางโรงพิมพ์ไชยยงค์ (กราบขอประทานอภัยถ้าเรียกชื่อโรงพิมพ์ผิด หรือสะกดชื่อโรงพิมพ์ผิด ได้โปรดให้อภัยผมด้วยนะครับผม) อยู่แถวๆ ตลาดท่าดินแดง ใกล้ๆ กับบ้านอาเหล่าเจ็กท่านหนึ่งที่ทำพลาสติก และคนแถวๆ ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา จะรู้จักท่านในนาม “อาเฮียตือพลาสติก” ครับผม

“อากู๋สี่” หรืออากู๋จั๊กเซี้ยะ แซ่เฮ้ง (จักเซี้ย แซ่เฮ้ง) เล่าต่อว่าทางโรงพิมพ์ไชยยงค์ เป็นคนช่วยจัดการแกะบล็อก และจัดการให้ทุกอย่างจนแล้วเสร็จเป็นใบเซียมซี และใช้อยู่ในศาลเจ้าพ่อกวนอูขององค์อากงท่านเทพเจ้ากวนอูที่คลองสานจนมาถึงทุกวันนี้นะครับผม

นอกจากใบเซียมซีภาษาไทยและภาษาจีนที่ “อากู๋สี่” ช่วยเป็นธุระ และช่วยจัดการให้แล้วนั้น “อากู๋สี่” ยังได้รวบรวมความหมายของใบเซียมซีภาษาจีนของท่านพระโพธิสัตว์กวนอิม (ท่านเจ้าแม่กวนอิม) และท่านพระอริยะสมุทรเทวี (เทียนโหวเซี่ยบ้อ ม่าโจ้ว) “อาหม่าโจ้ว” “อาม๋าโจ้ว” (ท่านเจ้าแม่ทับทิม) หรือ “ไฮ ตัง ม่า” จัดทำเป็นเล่ม และมอบให้กับทางศาลเจ้าพ่อกวนอู คลองสาน เพื่อใช้ในโอกาสต่อไป โดยหนังสือเล่มดังกล่าวนี้นั้น ผมเองไม่แน่ใจว่ายังอยู่ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู คลองสานหรือไม่ เนื่องจาก “อากู๋สี่” ได้มอบให้กับทางศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ในช่วงหลายสิบปีก่อนแล้วครับผม

กราบสาธุ สาธุ สาธุ ด้วยนะครับผม