หลักการประนอมหนี้กรรม

เครดิต : อาจารย์อิ้ว

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า "กรรม" คือการกระทำของเจ้าชะตา ซึ่งมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว โดยที่กรรมทั้งสองไม่สามารถที่จะนำมาหักลบล้างกันได้ กรรมดีก็อยู่ส่วนกรรมดี กรรมชั่วก็อยู่ส่วนกรรมชั่ว

ตามกฎแห่งกรรม คนเราเกิดมาแล้วหลายภพหลายชาตินับกันไม่ถ้วน และต่างต้องเคยก่อกรรมกันไว้มากมาย ไม่ว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ซึ่งทุกคนไม่จะเป็นใคร จะยากดีมีจนมาจากไหนก็ตาม ย่อมหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม จะต้องชดใช้และได้รับผลกรรมที่เคยก่อไว้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ซึ่งช่วงเวลาที่จะต้องรับผลกรรมได้ถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วจากวัน-เดือน-ปี-เวลา-สถานที่เกิดของเรา

การประนอมหนี้กรรม :

ก็เป็นอย่างที่ทราบกันดีว่ากรรมดีกับกรรมชั่วเป็นคนละส่วนกันไม่สามารถนำมาลบล้างกันได้ ใครทำกรรมดีอะไรไว้ก็จะได้เสวยสุขตามกรรมที่ได้สร้างไว้อย่างเต็มที่ และถ้าเขาผู้นั้นก่อกรรมทำชั่วอะไรไว้ก็ต้องชดใช้ผลของกรรมชั่วนั้นเต็มจำนวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยแม้แต่น้อยเช่นกัน

แต่เราสามารถขอผ่อนชำระหนี้กรรมได้ ตามหลักการประนอมหนี้กรรม โดยอาศัยบุญบารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และองค์ปู่ครูบาอาจารย์ทุกพระองค์ เป็นผู้ช่วยเจรจากับเจ้ากรรมนายเวรให้ ซึ่งมีข้อแม้ว่าผู้ที่จะขอประนอมหนี้กรรมจะต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด

1. เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม กล่าวคือต้องยอมรับว่าได้กระทำกรรมนั้นๆ ไว้จริงอย่างไม่มีข้อสงสัย

2. รู้สึกสำนึกผิดพร้อมขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ด้วยความนอบน้อมและจริงใจ

3. ให้วาจาสัตย์ต่อหน้าพระพุทธรูปว่าจะไม่ตั้งใจกระทำความผิดนั้นๆ ซ้ำอีกต่อไป ซึ่งถ้ากระทำผิดซ้ำอีกการขอประนอมหนี้กรรมในภายหลังนอกจากจะไม่สัมฤทธิ์ผลแล้ว ยังจะต้องได้รับเคราะห์ที่หนักเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ดังนั้น การประนอมหนี้กรรม คือ การทยอยผ่อนชำระหนี้กรรมที่ต้องชดใช้ โดยไม่ต้องชดใช้ในครั้งเดียว ซึ่งอาจจะหนักเกินไป จนไม่สามารถรับได้ เช่นต้องชดใช้ด้วยชีวิตอาจเหลือแค่ทยอยเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หลายๆ ครั้ง แต่ต้องชำระหนี้กรรมนั้นๆ ให้ครบถ้วน และนำบุญกุศลที่จะทำให้ (ตามที่จะแนะนำในโอกาสต่อไป) มาจ่ายเป็นเหมือนดอกเบี้ยในการประนอมหนี้กรรม