“บ้าน” ความต้องการที่สุดของผู้ป่วยระยะท้าย: กรณีศึกษาสิงคโปร์และมาเลเซีย
โดย ยศ วัชระคุปต์ และวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ประเทศไทยมีการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตด้วยรูปแบบ “ประคับ ประคอง” ในบางโรงพยาบาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตมักจะต้องการอยู่ “บ้าน” ที่ตนเองคุ้นเคยมากกว่านอนอยู่ที่โรงพยาบาล การให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านกลับยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ
กรณีศึกษาของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียจะช่วยให้เราเข้าใจและเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต “ที่ บ้าน” มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว ช่วยให้ผู้ป่วยไม่เจ็บปวดทางกาย มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และหากจากไปจะรู้สึกสุขสงบกว่าต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ที่ ไม่คุ้นเคย
หลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตที่บ้านและจัดให้มีบริการที่เรียกว่า home hospice มานานแล้วรวมถึงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่ให้บริการนี้มากว่า 25 ปีแล้ว องค์กรที่ดำเนินงาน home hospice ในสองประเทศนี้เป็นองค์กรการกุศลที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดใน จำนวนที่ไม่มากจนเป็นภาระแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งนี้ การให้บริการดูแลที่บ้านของทั้งสองประเทศมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่ได้รับความร่วมมือในการสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคลและการเงินจากภาครัฐและ เอกชนที่แตกต่างกันตามบริบทและความพร้อมของแต่ละประเทศ
HCA Hospice Care (HCA) เป็นหนึ่งในองค์กรการกุศล 8 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน
HCA ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 hospice care ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Intermediate and Long-Term Care (ILTC) Services ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงาน Agency for Integrated Care (AIC) ก่อตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุข
HCA ให้บริการ 3 ประเภท คือ การให้บริการผู้ป่วยที่บ้าน การให้บริการผู้ป่วยที่ศูนย์ของ HCA แบบเช้าไปเย็นกลับ และการให้บริการที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก (อายุไม่เกิน 19 ปี)
ส่วน Hospis Malaysia เป็นองค์กรการกุศล (NGOs) ในประเทศมาเลเซียที่ก่อตั้งในปี 1991 ให้บริการดูแลผู้ป่วยในเขตเมืองกัวลาลัมเปอร์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย การให้บริการของ Hospis Malaysia เน้นดูแลที่บ้านเป็นหลัก และทุกวันอังคารผู้ป่วยสามารถมาพบปะพูดคุยกันที่ศูนย์ซึ่งจะช่วยให้ผู้ดูแล ที่บ้านได้พักผ่อนในวันนั้นด้วย
เงื่อนไขการรับผู้ป่วยและการให้บริการของทั้งสองแห่งจะคล้ายกัน คือ ผู้รับบริการต้องป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือโรคที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง และมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมีใบนำส่งจากแพทย์ หลังจากรับเรื่องแล้ว ภายใน 1-2 วัน ศูนย์ก็จะจัดทีมแพทย์และพยาบาลไปเยี่ยมบ้านและประเมินอาการผู้ป่วย และนำข้อมูลการประเมินผู้ป่วยมาจัดทำตารางการเยี่ยมบ้าน ซึ่งในการไปเยี่ยมบ้าน พยาบาลจะพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย และครอบครัวหรือผู้ดูแล เมื่อมีคำถามต้องปรึกษาแพทย์ก็จะโทรคุยกับแพทย์ประจำศูนย์ทันที ในกรณีต้องใช้ยา พยาบาลก็มียาติดกระเป๋าไปด้วย แต่จะต้องปรึกษาแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์ก่อนตัดสินใจให้ยา เมื่อพยาบาลกลับมาที่ศูนย์ก็จะนำกรณีของผู้ป่วยทุกรายมาประชุมติดตามผลทุก กรณีไป ทั้งสององค์กรมีศูนย์อุปกรณ์ให้ผู้ป่วยสามารถยืมไปใช้ได้ และคืนอุปกรณ์เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต
จากการติดตามลงพื้นที่ร่วมกับ Hospis Malaysia ได้ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจำนวน 7 คน ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นโรคมะเร็ง ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางและอยู่กับผู้ดูแล (คู่สมรส ลูกหลาน คนรับใช้) มีเพียง 1 รายที่ไม่มีญาติต้องอยู่ในสถานสงเคราะห์ของวัด การลงพื้นที่พบว่าผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจในการอยู่บ้านที่มีพยาบาลมาเยี่ยมให้ คำปรึกษา นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีเบอร์โทรด่วน 24 ชั่วโมง ที่สามารถติดต่อพยาบาลได้เมื่อถึงเวลาฉุกเฉิน
ภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างมากในการให้การสนับสนุน ในประเทศสิงคโปร์ รัฐให้เงินอุดหนุนแก่ชาวสิงคโปร์ในการขอรับบริการดูแลที่บ้าน โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรการกุศลเป็นรายหัวของผู้รับบริการ เงินอุดหนุนขึ้นอยู่กับระดับรายได้ครอบครัวของผู้รับบริการ ซึ่งสามารถครอบคลุมได้ประมาณร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือนั้นองค์กรการกุศลรับผิดชอบเองโดยได้มาจากการระดมทุนและเงินบริจาค
ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลเหล่านี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ถึงร้อยละ 250 รัฐให้เงินสนับสนุนปีละ 200 เหรียญแก่ครอบครัวผู้ป่วยสำหรับใช้ในการอบรมเพื่อมาเป็นผู้ดูแล สิ่งสำคัญมากของระบบในสิงคโปร์คือ การมีผู้ทำงานด้านสังคมหรือที่เรียกว่า social worker ที่ช่วยทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว และการจัดการเรื่องเงินช่วยเหลือ
กรณีของประเทศมาเลเซียนั้น รัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินและไม่จัดระบบการดูแลแบบประคับประคอง Hospis Malaysia ใช้เงินบริจาคจากภาคเอกชน รวมทั้งการหารายได้จากการจัดกิจกรรม เช่น วิ่งมาราธอน มาอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการรับบริจาคยาที่ไม่ใช้แล้วจากคนไข้และนำไปแจกจ่ายให้ผู้ ป่วยคนอื่นใช้ การทำงานของ Hospis Malaysia เป็นระบบมาก ตั้งแต่กระบวนการหารายได้ การจ้างแพทย์และพยาบาล การจัดระบบยา การติดตามผู้ป่วยและการประเมินคนทำงานทุกคน หลักคิดที่สำคัญของผู้บริหารคือ องค์กรต้องเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ต้องการคนจิตใจดีแต่ทำงานไม่มีประสิทธิผล ผลงานขององค์กรต้องเห็นเป็นรูปธรรมเพื่อให้ผู้บริจาคยินดีที่จะสนับสนุนต่อ ไป ความก้าวหน้าขององค์กรตลอด 25 ปี เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จหนึ่งขององค์กรนี้
แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการให้บริการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน แต่ก็คงยังไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มสร้างระบบนี้ขึ้นมา และการที่เราเพิ่งเริ่มก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือเราสามารถเรียนรู้จาก ประสบการณ์ของ ประเทศที่พัฒนามานานแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกระบบและรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับบริบทของไทย บทบาทขององค์กรการกุศลในการดูแลแบบประคับประคองอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับ ประเทศไทย.///